เกี่ยวกับโครงการ

เนื่องจากในช่วงฤดูแล้ง พื้นที่ตำบลเกาะกูด พบปัญหาขาดแคลนน้ำ สำหรับการอุปโภค บริโภค และการเกษตร ซึ่งกรมชลประทาน โดยสำนักชลประทานที่ 9 ได้ดำเนินการ ก่อสร้างโครงการชลประทานขนาดเล็กเพื่อบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำในเบื้องต้น แต่อย่างไรก็ตาม ปริมาณน้ำที่เก็บกักได้ยังไม่เพียงพอกับความต้องการใช้น้ำในพื้นที่ รวมทั้งพบว่าองค์ประกอบโครงการ เริ่มเกิดความชำรุดเสียหาย ดังนั้น กรมชลประทานจึงได้มีนโยบาย ให้ทำการศึกษาศักยภาพในการพัฒนาพื้นที่เกาะกูดสำหรับสร้างอ่างเก็บน้ำเพิ่มเติม เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว

ความเป็นมาของโครงการ

เมื่อวันที่ 21-23 มิถุนายน พ.ศ. 2545 ณ จังหวัดระยอง จังหวัดจันทบุรี และจังหวัดตราด ได้กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาภาคตะวันออก โดยสรุปเป็นยุทธศาสตร์หลัก 3 ประการ คือ ยุทธศาสตร์ด้านอุตสาหกรรม ยุทธศาสตร์ด้านการเกษตร และยุทธศาสตร์ด้านการท่องเที่ยว กรมชลประทาน ได้รับมอบหมายให้ศึกษาวิธีในการเก็บกักน้ำ เพื่อประโยชน์จากสภาพภูมิอากาศที่มีฝนตกชุก ในการแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำในพื้นที่เกาะช้างเป็นแห่งแรก

สำหรับพื้นที่บนเกาะกูด ได้ดำเนินการจัดทำรายงานเบื้องต้นเกี่ยวกับการพัฒนาแหล่งกักเก็บน้ำบนพื้นที่เกาะ โดยกลุ่มงานวางโครงการ 4 จากการศึกษาพบว่า พื้นที่เกาะกูดมีศักยภาพในการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ 3 โครงการ คือโครงการอ่างเก็บน้ำคลองยายกี๋ โครงการอ่างเก็บน้ำคลองเจ้า และโครงการอ่างเก็บน้ำบ้านอ่าวพร้าว และภายหลังได้ มีการนําผลการศึกษาเบื้องต้นมาพิจารณา และกำหนดแผนงานศึกษาวางโครงการ โครงการอ่างเก็บน้ำคลองเจ้า อำเภอเกาะกูด จังหวัดตราด เพื่อจะใช้เป็นข้อมูลในการออกแบบรายละเอียดและก่อสร้างต่อไป

วัตถุประสงค์

พื้นที่องค์การบริหารส่วนตำบลเกาะกูด พบปัญหาขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้งสำหรับการอุปโภค บริโภคและการเกษตร ซึ่งกรมชลประทาน โดยสำนักชลประทานที่ 9 ได้ดำเนินการก่อสร้างโครงการชลประทานขนาดเล็กแล้ว เพื่อบรรเทาสภาวะการขาดแคลนน้ำดังกล่าว แต่ปรากฎว่าปริมาณน้ำที่เก็บกักได้ในช่วงหน้าแล้งยังไม่เพียงพอกับความต้องการน้ำ รวมทั้งอาคารที่ก่อสร้างเกิดการชำรุดเสียหายทุกปี ดังนั้น สำนักบริหารโครงการ โดยกลุ่มงานวางโครงการ 4 จึงได้รับมอบหมายให้ดำเนินการจัดทำรายงานเบื้องต้นการพัฒนาแหล่งกักเก็บน้ำบนพื้นที่เกาะกูด ซึ่งแล้วเสร็จในปี 2552 ในรายงานศึกษาเบื้องต้นดังกล่าว พบว่า พื้นที่เกาะกูดมีศักยภาพในการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำขนาด 2-3 ล้านลูกบาศก์เมตร ได้จำนวน 3 โครงการ คือ โครงการอ่างเก็บน้ำคลองยายกี๋ โครงการอ่างเก็บน้ำคลองเจ้า และโครงการอ่างเก็บน้ำบ้านอ่าวพร้าว กรมชลประทาน จึงได้ว่าจ้าง กิจการร่วมค้า IESPC JV ซึ่งประกอบด้วย บริษัท วิศวชลกร จำกัด บริษัท ศุภฤกษ์แพลนนิ่ง แอนด์ ดีไซน์ จำกัด และบริษัท ซีพีเอส ซัคเซส จำกัด ให้ดำเนินการสำรวจ ออกแบบ โครงการอ่างเก็บน้ำคลองเจ้า อำเภอเกาะกูด จังหวัดตราด

ลักษณะและที่ตั้งโครงการ

ลักษณะและที่ตั้งโครงการ

ที่ตั้งโครงการ

โครงการอ่างเก็บน้ำคลองเจ้า ตั้งอยู่หมู่ที่ 2 บ้านคลองเจ้า ตำบลเกาะกูด อำเภอเกาะกูด จังหวัดตราด

ที่ตั้งหัวงาน อยู่ห่างจากท่าเรืออ่าวสลัด ประมาณ 15 กิโลเมตร เดินทางโดยรถยนต์ ไปถึงลานจอดรถน้ำตกคลองเจ้า จากนั้นเดินเท้าอีกประมาณ 2 กิโลเมตร

พื้นที่โครงการตั้งอยู่ในที่ราชพัสดุ ของสำนักงานธนารักษ์พื้นที่ตราด แต่้มอบหมายให้กรมรักษาฝั่งที่ 1 (กรม รฝ.1) กองทัพเรือเป็นผู้ดูแล การเข้าพื้นที่ต้องขออนุญาตหน่วยงานดังกล่าวทุกครั้ง

ลักษณะโครงการ

จากการทบทวนด้านวิศวกรรม (2568) และการสำรวจภาคสนามเบื้องต้น สรุปลักษณะโครงการได้ดังนี้

ชนิดเขื่อน “เขื่อนดินถมเสริมแผ่นเมมเบรน”
พื้นที่รับน้ำของอ่างเก็บน้ำ 15.82 ตร.กม.
ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยต่อปี 3,690.82 มม.
ปริมาณน้ำท่าเฉลี่ยต่อปี 44.97 ล้าน ลบ.ม.
ระดับน้ำต่ำสุด +40.00 ม.(ร.ท.ก.)
ระดับน้ำเก็บกักปกติ +55.50 ม.(ร.ท.ก.)
ระดับน้ำสูงสุด +57.01 ม.(ร.ท.ก.)
ความจุที่ระดับเก็บกัก 2.20 ล้าน ลบ.ม.
ความสูงเขื่อน 24.50 เมตร
ความกว้างเขื่อน 8 เมตร
ความยาวเขื่อน 230 เมตร
พื้นที่น้ำท่วมที่ระดับกักเก็บปกติ 262 ไร่
พื้นที่น้ำท่วมที่ระดับกักเก็บสูงสุด 320 ไร่
พื้นที่ชลประทาน 2,037 ไร่

หมายเหตุ: การทบทวนครั้งนี้ได้ใช้ข้อมูลความสูงภูมิประเทศเชิงเลข (DEM) มาวิเคราะห์ระดับและขนาดขององค์ประกอบต่างๆ ของโครงการ โดยกิจการร่วมค้าฯ จะทำการทบทวนข้อมูลองค์ประกอบต่าง ๆ ของโครงการอีกครั้งในแบบร่างทั่วไป หลังจากที่มีการสำรวจและจัดทำแผนที่ภูมิประเทศบริเวณที่ตั้งหัวงานเขื่อนและอาคารประกอบ บริเวณพื้นที่อ่างเก็บน้ำ และการสำรวจรูปตัดลำน้ำ แล้วเสร็จ

ระยะเวลาการดำเนินงาน

กรมชลประทาน ได้กำหนด ระยะเวลาดำเนินงานจ้างสำรวจ ออกแบบ โครงการอ่างเก็บน้ำคลองเจ้า อำเภอเกาะกูด จังหวัดตราด จำนวน 450 วัน โดยเริ่มปฏิบัติงาน วันที่ 28 สิงหาคม 2567 สิ้นสุดสัญญา วันที่ 20 พฤศจิกายน 2568

แผนปฏิบัติงานของโครงการ

แผนปฏิบัติงานของโครงการ